เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 15 October 2020
- Hits: 1016
รอยลูกปัดในพื้นที่ภาคเหนือที่อาจบอกอะไรใหม่ ๆ ในไม่ช้านาน
BeyondBeadsInNorthernThailand
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20201014_1)
นี้คือที่ผมเริ่มร้อยเรียงเมื่อเช้าวาน และจบลงได้ตอนก่อนข้ามคืน
แล้วส่งต้นฉบับสู่
Sudara Suchaxaya
แล้วเมื่อเช้านี้โดยมีบทจบอ้างของ
Walailak Songsiri
เมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อนซะอ่านเนื้อในที่วารสารเมืองโบราณฉบับหน้า ว่าด้วยลำปาง เขลางค์นครครับ
ภาพนี้ ที่ถ่ายและทำรายงานให้ชาวชุมชนที่นั่นเมื่อ ๒๕๕๔ โน้นครับ
" ... โดยส่วนใหญ่แล้วเพดานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเท่าที่ผมมีสติปัญญาติดตามอ่านพบแม้มีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยแต่ก็ค่อนข้างประปราย จนกระทั่งสมัยหริภุญไชย มังราย และ ล้านนา ที่มีมากมายและเขียนกันขึ้นในถิ่น อาทิ จามเทวีวงศ์ มังรายศาสตร์ ชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา สิหิงคนิทานจนเหมือนว่าจะมากกว่าถิ่นอื่นที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ ไม่ว่าจะทวารวดี ศรีวิชัย จนกระทั่งสุโขทัยที่นับให้เป็นรัฐแรกเสียด้วยซ้ำ หลังจากตามรอยลูกปัดมาได้ไม่นาน เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยสถาบัยวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย ชวนไปร่วมเสวนาโครงการจัดเวทีสงเคราะห์องค์ความรู้จากภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอยจังหวัดสุโขทัย ด้วยเหตุผลว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงบอกว่าอยากทำอะไรในจังหวัดสุโขทัย อันเป็นต้นกำเนิดของชื่อมหาวิทยาลัย ประกอบกับได้รับการแจ้งจากกัลยาณมิตรคนสำคัญที่คบหากันมานาน คือคุณสมชาย เดือนเพ็ญ ชาวสวรรคโลก ที่บอกว่าชาวบ้านตั้งใจมาก อยากให้ไปช่วยชี้แนะในเรื่องลูกปัดเพราะพบกันมากเหลือเกิน โดยจัดเวทีขึ้นที่ อบต.ตลิ่งชัน และที่บ้านวังหาด คราวนั้นได้พบกับอ้ายสัณฐาน ศิลปางกูร ผู้ใหญ่บ้านวังหาด กับ นายสิงห์ วุฒิชมพู หนุ่มชาวตลิ่งชันที่กลับมาบ้านแล้วมุ่งมั่นการอนุรักษ์จนเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในวัด และ นายส่วน ผู้มารับไปเปิดดูพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก จัดวางสารพัดข้าวของที่รวบรวมไว้ทั้งที่เป็นดินเผา หิน สำริด เหล็ก และ หนังสือธรรมล้านนาเหลือประมาณ รวมทั้งลูกปัดหิน แก้ว ต่างหู จี้ห้อย และ เหรียญโลหะทั้งเงินและทองคำ ที่กลุ่มอนุรักษ์โบราณคดีบ้านวังหาด สามารถเก็บรักษารวบรวมเอาไว้ได้จำนวนไม่น้อย เท่าที่ฟังการบอกเล่าของชาวบ้านอื่น ๆ ด้วย สรุปได้ว่าแถวนี้มีการพบโดยบังเอิญมากมาย ทั้งเครื่องมือหิน ดินเผา สำริด เหล็ก ทองคำ เงิน และ ลูกปัด ส่วนใหญ่อยู่กับซากศพหรือกระดูก มีการขุดค้นค้าขายกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ๒๐ – ๓๐ ปีก่อน เคยเป็นข่าวโด่งดัง มีคณะเข้ามาศึกษาค้นคว้าหลายชุด ดังปรากฏในรายงานต่าง ๆ แต่น้อยกว่าที่ชาวบ้านได้รับรู้และพบเห็น บอกว่าขายและขนกันเป็นปี๊บ เป็นกระสอบ เป็นคันรถ เล่ากันว่า ลูกปัดตวงขายกันทะนานละ ๒๐๐ บาท ส่วนเหล็ก ชั่งขายกิโลกรัมละ ๕๐ สตางค์ ถ้าสำริด ก็รวม ๆ กันไปกับเหล็ก ส่วนทองคำ เล่ากันว่าพบก้อนโต ๆ ขนาดก้อนเส้าตั้งเตาก็มี
จนกระทั่งระหว่างวันที่ ๗ – ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ในการเดินทางขึ้นเชียงใหม่เพื่อร่วมอภิปรายให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ร่วมกับท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ กับไพโรจน์ สิงบัน แล้วท่านให้แวะดูลูกปัดที่วัดจอมปิงริมแม่น้ำวังที่จังหวัดลำปาง พร้อมกับชวนกันไปพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยที่ลำพูน ได้ดูลูกปัดพบที่บ้านวังไฮ จากนั้นจึงวกกลับมาแวะบ้านวังหาดในจังหวัดสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง แล้วได้พบว่าเจ้าอาวาสวัดวังหาดผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วันนี้ คือพระสิงห์ วุฒิชมภู ที่ยังจริงจังกับเรื่องนี้ตลอดมา พร้อมกับโจทย์คำถามเพิ่มเติมอีกมากจากที่ผมเคยถามไว้เมื่อ ๙ ปีก่อน ...
" ... จากบรรดาลูกปัดและเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์ที่ทำจากเปลือกหอย หิน แก้ว และสำริด ตลอดจนอาวุธและเครื่องมือเหล็กที่พบจาก ๓ แหล่ง คือที่บริเวณวังหาด จอมปิง และ วังไฮ ที่อยู่ในลุ่มน้ำ ยม วัง และปิงตอนบน ในจังหวัดสุโขทัย ลำปาง และลำพูน ซึ่งมีหลายลักษณะร่วมกันและยังร่วมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยหิน สำริดและเหล็ก ที่อาจเลยมาถึงสมัยเหล็กตอนปลายและแรกเริ่มทวารวดี โดยมีลักษณะและความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับหลายบริเวณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภารพื้นดินและคาบสมุทรหมู่เกาะ ชวนให้นึกถึงที่คุณวลัยลักษณ์ชี้ไว้ว่า “ ... ในปลายยุคเหล็กนี้ที่ประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้น เกิดเป็นชุมชนและพัฒนาการเป็นศูนย์กลางชุมชนพร้อมการจัดระเบียบทางสังคมที่ซับซ้อนขึ้นพร้อม ๆ กับการปรับรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกและแดนไกล เริ่มเกิดเป็นบ้านเมืองที่นิยมเรียกกันว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ ได้แก่ที่ออกแก้ว บริเวณปากแม่น้ำโขง อู่ทองลุ่มแม่น้ำท่าจีน เบคถะโนลุ่มแม่น้ำอิระวดี ที่บางท่านเรียกว่าสมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิ ก่อนจะเกิดรัฐทวารวดี และ “กลุ่มชุมชนต้นน้ำแม่ลำพันคือข้อมูลซึ่งเป็นหลักฐานกลุ่มแรกที่แสดงให้เห็นขอบข่ายของสังคมที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์กัน กินบริเวณลึกเข้าสู่ดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำปิง...ทำให้เห็นว่า ผู้คนในช่วงเวลานี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ มิใช่เป็นเพียงผู้คนในตำนานที่อยู่บนที่สูงซึ่งเรามักใช้อธิบายถึงกลุ่มคนก่อนการสร้างบ้านแปงเมืองโดยเฉพาะในภาคเหนือ ... เป็นกลุ่มวัฒนธรรมยุคเหล็กต่อเนื่องกับยุคแรกเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เป็นผู้ชำนาญทางการผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่งใช้ที่ประณีต ประโยชน์ใช้สอยสูงและทันสมัย นิยมใช้สิ่งของจากต่างถิ่นซึ่งคงผ่านระบบการแลกเปลี่ยนผ่านคนกลาง ... ”
ดังที่เธอสรุปว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนโบราณอื่น ๆ แล้ว นับว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตผู้ร่ำรวย และไม่ใช่เป็นชุมชนที่ผลิตโลหะและเครื่องมือเครื่องใช้เพียงอย่างเดียว แต่มีการทำเกษตรกรรมด้วย ดังเราจะเห็นว่ามีพื้นที่การผลิตในหุบเขาสำหรับถลุงเหล็ก มีแหล่งชุมชนใกล้ลำน้ำแม่ลำพันบนพื้นที่ราบสำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตรอันเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่น่าจะเรียกว่า ชุมชนโบราณกลุ่มต้นน้ำแม่ลำพัน” ที่ร่วมสมัยกับชุมชนโบราณมากมายในเขตภาคกลาง แสดงถึงความไม่โดดเดี่ยวไม่ว่าจะภายในเขตประเทศไทยหรือดินแดนต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่จีนตอนใต้ลงมาจนไปถึงฝั่งอินเดีย ซึ่งเป็นพลวัตแห่งความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ก่อเกิดรัฐและบ้านเมืองต่าง ๆ ในภายหลัง” ซึ่งเมื่อเชื่อมรอยลูกปัดที่วังหาดในลุ่มน้ำแม่ลำพันที่ไหลลงแม่น้ำยม กับที่จอมปิงแห่งลุ่มน้ำวัง และวังไฮแห่งลุ่มน้ำปิง ตลอดจนการค้นพบใหม่เรื่องแหล่งถลุงเหล็กสำคัญสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดลำพูนที่อำเภอลี้ อะไรใหม่ ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ลึกกว่าเดิมก็น่าจะกำลังเผยปรากฏ.
๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๓
บ้านบวรรัตน์ นครศรีธรรมราช
บรรณานุกรม
๑. สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงสุโขทัยมาจากไหน ? . กรุงเทพ. มติชน ๒๕๔๘.
๒. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, ชุมชนผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำแม่ลำพัน บทความ. กรุงเทพ. วารสารเมืองโบราณปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม -
มีนาคม ๒๕๔๐
๓. ศรีศักร วัลลิโภดม, เหล็ก “โลหปฏิวัติ” เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วม ยุคเหล็กในประเทศไทย : พัฒนาการทางเทคโนโยลีและ
สังคม. กรุงเทพ, มติชน ๒๕๔๘.
๔. บัญชา พงษ์พานิช, รอยลูกปัด Beyond Beads. กรุงเทพ. มติชน ๒๕๕๒.
๕. บัญชา พงษ์พานิช, นิคมอุตสาหกรรม สะพานเศรษฐกิจ และลานบูชาสวยัมภูลึงค์ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ ๒๕๐๐ ปี
ก่อน ที่สุโขทัย กับ ม.รามคำแหง เมื่อวันนกเต็นถล่ม. เอกสารรายงาน, ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔