logo_new.jpg

ที่เรือนและสะพานเสรษฐภักดีที่สุราษฎร์

TheSresthapakdeeBridge&House

(20250506_1 เพื่อแผ่นดินเกิด)

#ขุนเสรษฐภักดี ที่สุราษฎร์

และต่อมาขึ้นมาเป็นหนึ่งในจีนหลักของไทยในกรุงเทพนั้น

ท่านเกิดที่เมืองนคร มีแม่เป็นคนนคร

อายุร่วมสมัยกับ #ขุนบวรรัตนารักษ์

ที่สำคัญสำหรับพวกเราที่เมืองนครคือ

ท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการพัฒนาเมืองนคร

อาทิโรงไฟฟ้าแห่งแรก และโรงน้ำแข็งแห่งแรกของเมืองนคร

ก็เป็นของขุนเสรฐ

แต่ที่ยิ่งกว่านั้น คือตั้งอยู่ที่บริเวณที่เป็น บวรนคร วันนี้

ส่วน #ตึกยาว นั้น ยังไม่ทราบชัดว่าของขุนเสรฐด้วยไหม

รู้แต่ว่าสร้างโดยจีนจากสิงคโปร์ตอนขุนเสรฐและขุนบวรอายุเพิ่ง ๑๐ ขวบเท่านั้น

เมื่อวานนี้ที่บ้านดอน ไปเดินวนลอดสะพานเสรฐภักดีนี้

ตื่นมาเจอนี้ ที่ อ TiTi Pwan เล่าถึง

ชวนให้นุกถึงกุฏิหง้วน เสรฐภักดี ที่ วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม

ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ผมพำนักเรียนรู้จนพอรู้ธรรมเอามานำชีวิตถึงวันนี้ ๔๐ ปีพอดีแล้วครับ

ขออนุญาต อ เอามาให้อ่านกันอีกครั้งครับผม

๖ พฤษภา ๖๘ ๐๙๑๐ น

เขาศรีวิชัย

ศาลาห้วน เสรฐภักดี : โรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

ไปวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เดินชมความงามของอาคารภายใน พบอาคารครึ่งตึก ครึ่งไม้ หน้ากว้าง ประมาณ 24 เมตร ลึก ประมาณ 12 เมตร ชั้นบนมีบานประตูไม้บานเฟี้ยม ครึ่งล่างเป็นลูกฟัก ด้านบนเป็นบานเกล็ด คาดว่าเคยมีการบูรณะมาแล้วระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2472

         บนหน้าจั่วของอาคารหลังนี้ทางด้านซ้ายมีภาพจิตรกรรมปูนปั้น พื้นติดกระเบื้องโมเสก พุทธประวัติ วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในวันวันอาสาฬหบูชา ด้านล่างของภาพมีพุทธสุภาษิต เขียนว่า“น สิยา โลกวฑฺฒโน” อย่าเป็นคนรกโลก”

         บนหน้าจั่วทางด้านขวามือ มีภาพจิตรกรรมปูนปั้น พื้นติดกระเบื้องโมเสกเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงตัดพระเมาลี (มวยผม) พระเกศา (ผม) ก่อนออกบวช มีพระพรหม 4 หน้าและเทวดา ด้านล่างมีพุทธสุภาษิต อ่านได้ไม่ชัด มีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า จงพยายามยกคนขึ้นจากความตกยาก (หากท่านใด มีความรู้ ทางด้านภาษาบาลี ก็ขอคำชี้แนะด้วย)

ส่วนด้านหน้าของอาคารเมื่อมองขึ้นไปบนหน้าบัน เป็นหน้าบันทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้นหน้าบันของอาคารโรงเรียนนักธรรม ประดับด้วยกระจกสี ติดประเบื้องโมเสกขาวเป็นตัวอักษร ระบุข้อความ

ห้วน เสรฐภักดี สร้างอุทิศให้ นายเล่ง บิดา นางเฟื่อง มารดา พ.ศ. 2472” นามสกุลหรือแซ่อ่านไม่ชัด (ผู้เขียน อ่านได้ว่า ส้อเหล่ง)

           นางห้วน หรือนางหงวน เสรษฐภักดี เป็นภรรยาของขุนเศรษฐภักดี จากประวัติของขุนเศรษฐภักดี มีภรรยา 4 คน คือ นางชุ่ยเกียว, นางหงวน, นางปราณี และนางฉายศรี ภรรยา คนแรกและคนที่สอง ต่างถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว มีบุตรชาย 6 คน คือ นายกำธร, นายกำยง, นายกำกิจ, นายกำลาภ, นายกำสิน, นายกำพล ส่วนบุตรีมีเพียงคนเดียว คือ นางพวงผกา ซึ่งได้สมรสกับนายเฉินฉีเหวิน (ตั้งกี่บุ้น) หรือนายวรรณ ชันซื่อ

       ผศ. ธีรศักดิ์ ทองนุ้ยพราหมณ์ ชาวท่าฉาง ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่าที่ท่าฉาง มีบ้านญาติของท่านพุทธทาส มีภาพประดับติดข้างฝาบ้านด้วย อีกทั้งคนบ้านดอนยังบอกว่านางหงวน เป็นญาติกับ ท่านพุทธทาสภิกขุ มีศักดิ์เป็นน้า

       จากประวัติท่านพุทธทาส เป็นบุตรของนายเซี้ยง พานิช กับ นางเคลื่อน พานิช นายเซี้ยงเป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน บิดาอพยพจากมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน

       นางเคลื่อน มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุ เกิดที่อำเภอท่าฉาง เป็นบุตรของนายเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ

       จากประวัติของนางเคลื่อน พานิช โยมแม่ของท่านพุทธทาสภิกขุ เกิดวันอังคาร เดือน 6 ปีกุน พ.ศ.2418 ที่บ้านท่า ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง เป็นบุตรขุนสิทธิสาร (เล่ง สิทธิสาร) กับ นางใจ

         ข้อความบนหน้าบันอาคาร ระบุ บิดา ของนางห้วน ชื่อนายเล่ง และมารดาชื่อนางเฟื่อง ส่วนชื่อของนางห้วน เสรษฐภักดี หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมจึง สะกดด้วย ส. เสือ เป็นเพราะว่า นามสกุลนี้เป็นนามสกุลพระราชทาน แก่พระยาประดินันทน์ภูมิรัตน์ (เลี่ยวเชียงสุน) เมื่อคราวทำการภาษีอากรมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้รับพระราชทานนามสกุล “เสรฐภักดี” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2462 เมื่อยังเป็นขุนประเสริฐสวามิภักดิ์ กรมการพิเศษมณฑลสุราษฎร์

                 ส่วนบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมี

พระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวช เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ช่วงต้นปี พ.ศ. 2471 อาเสี้ยง น้องชายของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ผลักดันให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้าศึกษาความรู้ทางธรรมต่อที่กรุงเทพฯ

ในพรรษาที่สาม ท่านพุทธทาสภิกขุสอบนักธรรมชั้นเอกได้ เมื่อออกพรรษา คุณนายหงวน เสรษฐภักดี เป็นผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

             จากประวัติของท่านพุทธทาส เมื่อท่านสอบนักธรรมโทได้ในพรรษาที่ 2 ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2471 ท่านได้เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ตัวท่านเองมีความรู้สึกเบื่อหน่ายจนต้องขอกลับพุมเรียงและจะขอสึก ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าพรรษาเพียง 4 - 5 วัน จึงมีคนทักท้วงและขอให้ผ่านพรรษาก่อน ซึ่งเมื่อออกพรรษาจริง ๆท่านก็ไม่ได้สึก ในพรรษาที่ 3 ท่านได้ศึกษานักธรรมด้วยตนเองโดยไม่ยอมเข้าโรงเรียนนักธรรมและสามารถสอบนักธรรมได้ ต่อมาในพรรษาที่ 4 ท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) ให้ท่านพุทธทาสมาช่วยสอนนักธรรมที่โรงเรียนนักธรรมวัดพระธาตุไชยา ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นจากเงินบริจาคของคุณนายหงวน เศรษฐภักดี ญาติผู้ใหญ่ของท่าน ท่านสอนอยู่ 1 ปี จึงยังไม่ได้สึกอีก

                   ในปีนั้นนักเรียนสามารถสอบผ่านทั้งหมด คุณนายหงวนจึงให้รางวัลท่านเป็นเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วรุ่นแรกของเรมิงตัน ซึ่งต่อมาเวลาท่านเขียนบทความหรือเขียนหนังสือ ท่านจะพิมพ์ดีดด้วยเครื่องนี้แทนการร่างด้วยปากกาดินสอในพรรษาที่ 5 ท่านได้กลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนบาลีอีกครั้ง โดยเรียนเป็นพิเศษตอนกลางคืนกับท่านพระครูชยาภิวัตน์และสามารถเข้าสอบไล่ได้ทั้ง ๆที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน พรรษานี้ ท่านเริ่มมีงานอดิเรกหลายอย่างเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเล่นพิมพ์ดีด เล่นจานเสียง เล่นวิทยุ และเล่นกล้อง เป็นต้น

           เมื่อคราวที่สร้างอาคารหลังนี้ ขุนเศรษฐภักดี ยังเป็นนายเลี้ยวจิ้นซ้ง จากนั้นใน ปี พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเศรษฐกักดี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 (ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา พระราชทานบรรดาศักดิ์ มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ข้าราชการในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2473 กระทรวงมหาดไทย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 47 หน้า 3004 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2473

       พระราชทานบรรดาศักดิ์ นายเลี้ยวจิ้นซ้ง เศรษฐภักดี เป็นขุนเศรษฐภักดี ดำรงตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือศักดินา 400

       ประวัติความเป็นมาของขุนเศรษฐภักดีและนางหงวน เสรษฐภักดี ในเมืองบ้านดอน มีน้อยคนที่จะรู้จักด้วยทายาทส่วนใหญ่ประกอบการค้าในกรุงเทพ ฯ มีเพียงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโรงน้ำแข็ง การเช่าบ้านและอาคารในเมืองบ้านดอน รวมถึงสวนยางพาราที่อำเภอพุนพิน ชลินทร์ รัตนสุวรรณ ให้ข้อมูลว่า

       เตี่ยผม (โก้ซุ้ย) ถือเป็นหลานของขุนเศรษฐภักดีเพราะคุณแม่ของเตี่ยคือนางเปา แซ่เลียว เป็นบุตรสาวของขุนเศรษฐภักดี กับนางจูเนี้ย (คุณทวด) ซึ่งเป็นภรรยาคนหนึ่งของท่าน คุณนายหงวนภรรยาของขุนเศรษฐภักดี รับเตี่ยของผมเป็นบุตรบุญธรรมของท่าน เมื่อท่านเสียชีวิตในงานฌาปนกิจศพนางหงวน เสรษฐภักดี ท่านขุนเศรษฐภักดี ได้ให้เตี่ยของตนเป็นผู้ถือโกศกระดูกของคุณนายหงวน

         ชลินทร์ ยังเล่าอีกว่าบรรพบุรุษของตนคือ นายจิวโฮฮวด (จิน-แฃ่กิม) เป็นขุนนางจีนมีบริวารมากมายท่านไม่ได้มาเมืองไทยอย่างเสื่อผืนหมอนใบท่านหนีภัยสงคราม "กบฏ ไท้ผิง (2391-2408) ในรัชกาลที่3 หัวหน้ากบฏชื่อ หงฃิ่วฉวน ชาวจีนแคะได้ก่อความวุ่นวายในบริเวณจีนตอนใต้ พระยางซูสีไทเฮา ได้ร่วมมือกับอังกฤษปราบปรามสำเร็จ พวกกบฏพากันลี้ภัยออกประเทศ เหล่ากง ผมหนีมากับลูกสาวชื่อนางจูเนี้ย (คุณหนูไข่มุก)พร้อมบริวารทั้งถู่โหลว (บ้านดิน)รวมเอาเครือญาติและลูกหลานมาอยู่ในบางเบิด(ตำบลคลองไทร) ต่อมาท่านได้แต่งงานกับคุณนายแตงอ่อนได้ทำธุรกิจ การค้าสำเภาจีนการค้าขายสินค้าจากป่า (เหนือแม่น้ำตาปี) ส่งไปประเทศจีนส่วนลูกสาวชื่อกิมจูเนี้ย ได้มาเป็นภรรยาคนหนึ่งของ ขุนเศรษฐภักดี มีลูกสาวชื่อ นางเปา แฃ่เลียว ต่อมาได้แต่งงานกับนาย คูง่วนกุ่ย มีลูกชายชื่อนายสถิตย์ รัตนสุวรรณ ท่านเสียชีวิตเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ

         ที่เล่ามาได้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของ ตระกูลเสรษฐภักดี จากเมืองบ้านดอนที่มาสร้างคุณูปการในการสร้างอาคารเรียนนักธรรมในอดีต มาวันนี้ อาคารโรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร มีการใช้สอยอาคารเป็นศาลาการเปรียญ การเดินทางมาไชยาวันนี้นับเป็นการเรียนรู้ผ่าน Mindset พุทธปัญญาแห่งการสร้างจิตตปัญญาศึกษาของการสร้างสุขบนฐานนิเวศวัฒนธรรมกับการก้าวสู่ความเป็นมรดกโลกของเมืองไชยา

ธิติ พานวัน. นักเล่าเรื่องเมืองบ้านดอน. 6 พฤษภาคม 2568

https://www.facebook.com/photo?fbid=1798571761037938&set=pcb.1798571934371254

 

 

 

 

 

Joomla templates by a4joomla
rtp slot https://www.sidiap.org/rtp-live-slot//