เพื่อแผ่นดินเกิด
- Details
- Written by Super User
- Category: เพื่อแผ่นดินเกิด
- Published: 11 August 2022
- Hits: 654
(bunchar.com เพื่อแผ่นดินเกิด 20220810_5)
ผมก็สงสัยไม่หายมานาน ว่านี้ใช่ขบวนทัพไปจับศึกแน่หรือ ?
ขอบคุณ Ying Rodthim ที่ค้นนี้แล้วส่งมาให้ มีความหมายกว่าแค่ผ้านุ่ง
ซึ่งช่วยให้ได้มองใหม่ ๆ มากกว่าก่อนมากเลยครับ
ส่วนขบวนที่ตามเสียมนั้นคือ #ละโว้ ซึ่งรู้กันอยู่ว่าอยู่ตรงไหนแน่
และที่สำคัญกว่านั้น คือเมืองลูกหลวง
ที่สถิตย์ขององค์รัชทายาทแห่งอังกอร์เลยครับผม
“#เสียมกุก” ขบวนเกียรติยศ
1.”เสียมกุก” ภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด หมายถึงพวกสยาม ซึ่งในที่นี้คือชาวสยาม (เสียม เป็นคำกลายจากสยาม, กุก เป็นอักขรวิธีแบบเขมร อ่าน กก กลายจากคำจีน ว่า ก๊ก หมายถึง พวก, หมู่, เหล่า, ชาว ฯลฯ)
ภาพสลัก “เสียมกุก” เป็นสัญลักษณ์ขบวนเกียรติยศของกลุ่มเครือญาติใกล้ชิดพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 ในพิธีกรรมสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น พิธีสถาปนาเป็นพระวิษณุสถิตบรมวิษณุโลก) ซึ่งเท่ากับ “เสียมกุก” ลุ่มน้ำโขงเป็นเครือญาติใกล้ชิดพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 เช่นเดียวกับขบวนละโว้และขบวนพิมาย (ซึ่งเป็นภาพสลักถัดไป) ล้วนเป็นเครือญาติใกล้ชิด
2.ชาวสยามในภาพสลัก “เสียมกุก” มีหลักแหล่งสำคัญอยู่ดินแดนศรีโคตรบูร (ชื่อในตำนาน) บริเวณสองฝั่งโขงที่มีศูนย์กลางอยู่เวียงจันท์ (ตามคำอธิบายของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม) แต่ “เสียมกุก” เคยมีนักปราชญ์อธิบายเป็นอย่างอื่นมาก่อน ดังนี้
(1.) นักปราชญ์ชาวยุโรปอธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึง กองทัพสยามจากรัฐสุโขทัยที่ถูกอาณาจักรกัมพูชาเกณฑ์ไปช่วยรบกับจามปา (อยู่ในเวียดนาม) เพราะเชื่อว่า “เสียม” คือ สยาม เป็นชื่อเรียกรัฐสุโขทัย แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุน เรื่องแรก “เสียมกุก” เป็นภาพสลักถูกทำขึ้นราว พ.ศ.1650 ยังไม่มีรัฐสุโขทัย เนื่องจากพบหลักฐานว่ารัฐสุโขทัยสถาปนาขึ้นหลักจากนั้นเกือบ 100 ปี และเรื่องหลัง “เสียม” หรือ “เสียน” เป็นคำจีนในเอกสารจีนเรียกสยาม หมายถึง รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ไม่ใช่รัฐสุโขทัย
(2.) จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึงสยามแห่งลุ่มน้ำกก จ.เชียงราย แต่บริเวณลุ่มน้ำกก เมื่อ พ.ศ.1650 (ช่วงเวลาทำภาพสลักปราสาทนครวัด) ไม่พบหลักฐานเป็นบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐ และกว่าจะเติบโตมีบ้านเมืองประกอบด้วยคูน้ำคันดินมั่นคงแข็งแรงก็หลังจากนั้นอีกนานเกือบ 100 ปี
“เสียมกุก” นุ่งผ้าแบบผู้ไท
ชาวสยามในภาพสลัก “เสียมกุก” นุ่งผ้าผืนพันรอบตัวเหมือนนุ่งโสร่งโดยให้เชิงผ้าข้างล่างผายเล็กน้อยแบบผ้านุ่งผู้ไท เรื่องนี้จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 หน้า 130-150) ส่วนผู้รู้เรื่องผู้ไทเขาย้อย เพชรบุรี บอกว่าโดยทั่วไปในปัจจุบันหญิงผู้ไทนุ่งผ้าซิ่น “ลายแตงโม” ปล่อยชายผ้าย้วยด้วยการนุ่งแบบหน้าสั้น หลังยาว
การนุ่งผ้าแบบผู้ไทมีรากเหง้าต้นตอพบหลักฐานลายสลักบนเครื่องมือสำริดรูปช่างขับช่างแคนหมอลำหมอแคน นุ่งผ้าปล่อยยาวทิ้งชายผ้าสองข้างอย่างเดียวกันทั้งหญิงชายโดยไม่แบ่งเพศทำท่าฟ้อนแคนในวัฒนธรรมดองซอน (เวียดนาม) 2,500 ปีมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนว่าผู้ไทเมืองแถนเป็นส่วนหนึ่งของชาวสยามใน “เสียมกุก” และใน “ราชอาณาจักรสยาม”
-----------------------
หมายเหตุ :
เจ้านายและไพร่พลในขบวนเสียมกุก (ชาวสยาม) นุ่งผ้าเหมือนโสร่ง (ไม่นุ่งหยักรั้งแบบเขมรนำหน้าขบวนละโว้) เป็นขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา (ภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด ราว พ.ศ.1650 ลายเส้นคัดลอกโดย อ.คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
๑๐ สค.๖๕ ๑๑๐๐ น.




